“หอยเป๋าฮื้อ” เลี้ยงส่งออกต่างประเทศ

ในโลกนี้มีสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของมนุษย์มากมาย หอยเป๋าฮื้อเป็นสัตว์ทะเลอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เป็นอาหารนอกจากนี้ยังสามารถใช้เปลือกทำเป็นเครื่องประดับที่มีค่าทำให้หอยเป๋าฮื้อเป็นสัตว์ทะเลที่มีราคาแพงจึงได้มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อเพิ่มจำนวนหอยเป๋าฮื้อในธรรมชาติและได้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน และอีกหลายประเทศในแถบยุโรปและอเมริการวมทั้งประเทศไทยต่างก็นิยมบริโภคหอยเป๋าฮื้อ หอยเป๋าฮื้อที่พบทั่วโลกมีประมาณ 100 ชนิด แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนโดยเฉพาะในประเทศแถบทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือในประเทศไทยพบหอยเป๋าฮื้อที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติเพียง 3 ชนิด และบางชนิดก็มีการเพาะเลี้ยงด้วย

หอยเป๋าฮื้อเป็นหอยที่มีคนนิยมบริโภคและมีราคาแพง จัดได้ว่าเป็นอาหารระดับฮ่องเต้ ประเทศไทยต้องนำเข้าหอยเป๋าฮื้อปีหนึ่ง ๆ มูลค่าหลายสิบล้านบาท ด้วยเหตุนี้หากคิดจะเพาะเลี้ยง เรื่องตลาดนั้นก็ไม่มีปัญหาต้องเป็นห่วงอย่างแน่นอน แต่ปัญหาที่แท้จริงก็คือต้นทุนการผลิตหอยยังสูงอยู่ ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีลูกพันธุ์หอยเป๋าฮื้อจำหน่าย ดังนั้นถ้าหากมีการทดลองเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าปัจจุบันนี้ การเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรทั่วไปที่สนใจ
หอยเป๋าฮื้อมีชื่อภาษาอังกฤษว่า แอบะโลนี (Abalone) เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังประเภทหอยฝาเดียวมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น หอยโข่งทะเล หอยร้อยรู เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพราะใช้เนื้อเป็นอาหารและใช้เปลือกเป็นเครื่องประดับที่มีราคาแพง หอยเป๋าฮื้อมีหลายชนิดทุกชนิดจัดอยู่ในวงศ์ฮาลิโอทิดี (Haliotidae) สกุลฮาลิโอทิส (Haliotis) ส่วนใหญ่พบในเขตอบอุ่น และเขตร้อนตามบริเวณชายฝั่งที่มีพื้นแข็งและมีแสงสว่างส่องถึงซึ่งได้แก่ หาดหิน และแนวปะการังตามเกาะแก่งที่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำเค็ม กินอาหารจำพวกพืชทะเลที่เกาะติดตามก้อนหินและแนวปะการัง เช่น ไดอะตอมประเภทเกาะติดและสาหร่ายขนาดเล็กที่เกาะตามโขดหินใต้น้ำ หลบซ่อนตัวตามซอกหินและแนวปะการังในเวลากลางวันและออกหากินในเวลากลางคืน

ลักษณะเด่นของหอยเป๋าฮื้อ คือ มีรูจำนวนหนึ่งที่เป็นแนวตามขอบด้านบนของเปลือก จำนวนของรูนี้เป็นลักษณะหนึ่งที่ใช้ในการจำแนกชนิดของหอยเป๋าฮื้อ รูเปิดเหล่านี้มีหน้าที่ช่วยในการหายใจ การขับถ่าย และการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ ด้านล่างของเปลือกไม่มีฝาปิดซึ่งต่างจากหอยฝาเดียวที่มีวิวัฒนาการสูงกว่า เช่น หอยนมสาว หอยหวาน ที่มีฝาปิดเท้าของหอยเป๋าฮื้อมีขนาดใหญ่เห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของหอยเป๋าฮื้อ เนื่องจากใช้สำหรับการเคลื่อนที่และยึดเกาะกับพื้นผิวโดยประกอบด้วยส่วนของกล้ามเนื้อที่มีความหนาและแข็งแรง เท้าของหอยเป๋าฮื้อเป็นส่วนที่คนนิยมรับประทานและมีราคาแพงที่สุด สีของกล้ามเนื้อเท้ามีหลายสี เช่น สีขาว สีครีม สีส้ม สีดำ ในโลกนี้มีหอยเป๋าฮื้อประมาณ 100 ชนิด มีประมาณ 20 ชนิด ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจในเขตทะเลไทยพบหอยเป๋าฮื้อ 3 ชนิด แต่มีเพียงชนิดเดียวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ ฮาลิโอทิส แอสสินินา (H. asinina)

การเพาะพันธุ์ต้องเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีและใช้วิธีการที่เหมาะสมในการควบคุมการปฏิสนธิจึงจะได้ลูกหอยจำนวนมากและการที่ตัวอ่อนจะมีชีวิตรอดได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงซึ่งต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับธรรมชาติของหอยเป๋าฮื้อ ในการเลี้ยงลูกหอยมีระบบการเลี้ยง 2 ระบบใหญ่ คือ การทำฟาร์มในทะเลและการทำฟาร์มบนบกซึ่งการทำฟาร์มบนบกจะแบ่งออกเป็น แบบระบบเปิด ระบบปิดและกึ่งปิดกึ่งเปิด
หอยเป๋าฮื้อเป็นหอยฝาเดียว คือ มีเปลือกเดียว มีขนาด รูปร่าง และสีของเปลือกแตกต่างกันไปตามสภาพถิ่นที่อยู่และชนิดซึ่งจะมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ หอยเป๋าฮื้อขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบมีความยาวเปลือก 27 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวรวมทั้งเปลือกถึง 1.7 กิโลกรัม หอยเป๋าฮื้อทั้งเปลือกมีรูปร่าง ค่อนข้างแบนมีรูปทรงตั้งแต่ค่อนข้างกลมไปถึงยาวรี ยอดเตี้ยคล้ายจานเปลือกมีหลายสี เช่น สีเขียวมะกอก สีแดง สีส้ม เมื่อจับหงายขึ้นมาเปลือกมีลักษณะคล้ายใบหูมีรูเป็นแนวตามขอบด้านบนของเปลือก คนไทยจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หอยร้อยรู” แต่จะไม่มีฝาปิดด้านล่างของเปลือกเมื่อจับหอยเป๋าฮื้อที่มีชีวิตอยู่หงายขึ้นก็จะเห็นเท้าของหอยซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่หนาและแข็งแรง เท้าเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของหอยเป๋าฮื้อและเป็นส่วนที่มีราคาแพงที่สุดเพราะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคกล้ามเนื้อเท้ามีหลายสี เช่น สีขาว สีครีม สีส้ม สีดำ

หอยเป๋าฮื้อเป็นหอยทะเลฝาเดียวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก โดยเป็นหอยที่มีราคาแพง และเป็นที่นิยมบริโภคทั้งในและต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ เนื่องจากมีรสชาติดี และผู้บริโภคบางกลุ่มเชื่อว่าหอยเป๋าฮื้อมีสรรพคุณในทางบำรุงร่างกาย ซึ่งการเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อมีวิธีการเลี้ยงที่ง่าย แต่มีการลงทุนที่สูงมากแต่ผลตอบแทนก็สูงมากเช่นกัน การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อมีวิธีการดังนี้

วัสดุอุปกรณ์
- โรงเรือน
- บ่อซีเมนต์ กว้าง 1.20 เมตร ยาว 5 เมตร สูง 1 เมตร
- บ่อพักน้ำทะเล
- ปั๊มออกซิเจน 2 เครื่อง (เปิดสลับกัน)
- กะละมังพลาสติกสีดำ ขนาด 12 นิ้ว ตัดเป็นรูด้านข้างขนาด 5 นิ้ว สองด้านตรงกันข้ามกัน
- ลูกพันธุ์หอยขนาด 0.5 ซม.
- สาหร่ายผมนาง
- น้ำทะเลสะอาด ที่สูบขึ้นมาพักไว้แล้ว 3 วัน (**เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจจะติดมาตามธรรมชาติ**)

ขั้นตอนการเลี้ยง
- เปิดน้ำทะเลที่ขังเก็บไว้ มาใส่ในบ่อเลี้ยงให้มีระดับน้ำสูงประมาณ 30 ซม.
- นำกะละมังมาวางไว้ที่พื้นบ่อเพื่อให้หอยได้หลบอาศัย จำนวน 3-5ใบ/บ่อ
- นำลูกพันธุ์ที่ซื้อมาลงไปเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ บ่อละ 5,000 ตัว
- การให้อาหาร หอยเป๋าฮื้อจะกินสาหร่ายผมนาง เป็นอาหาร ( หาซื้อได้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราคา กิโลกรัมละ 25 บาท) โดยให้สาหร่ายในอัตรา 3 กก./ วัน / 1 บ่อ และเพิ่มปริมาณขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามการเจริญเติบโต ของหอยเป๋าฮื้อ
- ใช้ระยะเวลา 4 ปีในการเลี้ยงก็สามารถนำมาจำหน่ายได้
- หอยเป๋าฮื้อส่งออกต่างประเทศในราคากิโลกรัมละ 2,000 – 3,000 บาท

การดูแลรักษา
- ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเค็ม 3 วันต่อครั้งและให้มีน้ำคอยหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา
- ให้ทำการขัดตะไคร่น้ำออกจากพื้นบ่อบ้างถ้าหากว่ามีมากจนเกินไป
- ต้องมีการให้ออกซิเจนตลอดเวลา ในอัตรา 10 หัว/บ่อ
- การเก็บสาหร่ายให้เก็บไว้ในน้ำเค็ม เพื่อให้สาหร่ายสดอยู่ตลอด

การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ ต้องจัดสภาพให้ใกล้เคียงกับความเป็นอยู่ตามธรรมชาติโดยจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของน้ำ ความเค็ม อุณหภูมิ ความเป็นกรดด่าง การมีน้ำสะอาดไหลผ่านตลอดเวลา มีที่หลบแดดในเวลากลางวัน การให้อาหารที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติและเวลาที่เหมาะสมสำหรับการให้อาหาร ขนาดของลูกหอยที่เหมาะสมในการนำมาเลี้ยงควรมีความยาวของเปลือก 0.5 – 3 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการเลี้ยงว่าจะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายสำหรับนำไปเลี้ยงต่อหรือเพื่อจำหน่ายสำหรับนำไปบริโภคตลอดจนความเหมาะสมกับระบบการเลี้ยง ความสามารถ และความพอใจของผู้เลี้ยง การเลี้ยงจะใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือน – 2 ปี ตามขนาดที่เริ่มเลี้ยงและขนาดที่จำหน่าย เช่น ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ขนาดกลางที่เรียกกันว่าขนาดค็อกเทลเพื่อจำหน่าย

สำหรับการบริโภคจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 12-18 เดือน ในการคัดเลือกขนาดของหอยที่จะนำมาเลี้ยงนั้นถ้าใช้ลูกหอยที่มีขนาดเล็กมากก็จะมีความเสี่ยงสูงเพราะต้องดูแลเอาใจใส่และใช้เวลามาก แต่ก็มีข้อดีคือต้นทุนในการเพาะเลี้ยงจะต่ำ ในการเลี้ยงจำเป็นต้องใช้หอยที่มีขนาดเหมาะสมและมีความหนาแน่นของหอย (จำนวนหอยต่อ ๑ หน่วยพื้นที่) ที่เหมาะสม เช่น ควรเริ่มเลี้ยงหอยที่มีความยาวเปลือก 1 เซนติเมตร เพราะหอยขนาดนี้สามารถฝึกให้กินสาหร่ายใบซึ่งเป็นอาหารที่หอยกินตามธรรมชาติหรืออาหารสำเร็จรูปได้ไม่ยาก โดยควรเริ่มต้นด้วยการให้มีความหนาแน่น 1,500 – 2,000 ตัวต่อตารางเมตร ให้มีน้ำสูงประมาณ 50 – 80 เซนติเมตร การให้อาหารและการดูแลทำความสะอาดต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมสิ่งที่สำคัญมากคือ ต้องมีการติดตามและควบคุมคุณภาพน้ำในระบบสิ่งที่ต้องคอยติดตาม และควบคุม คือ อุณหภูมิของน้ำ ความเค็ม ความเป็นกรดด่าง ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำและปริมาณแอมโมเนีย

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้ดีที่สุดแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถทำให้สภาพแวดล้อมต่าง ๆ เหมือนกับสภาพตามธรรมชาติจริง ๆ ที่หอยอาศัยอยู่จึงก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ลูกหอยเจริญเติบโตช้า หอยตายเพราะความเครียดและเกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายในการเพาะเลี้ยง โรคของหอยเป๋าฮื้อเกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด เช่น ไวรัส แบคทีเรีย รา โปรโตซัว ตลอดจนปรสิตภายนอกจำพวกปลิงใสและหนอน
อาการของโรคที่พบบ่อย ๆ ในระบบการเลี้ยง ได้แก่
- อาการท้องบวม
- อาการเท้าเปื่อย
- อาการเปลือกผุกร่อน
- อาการตัวเกร็งตาย

จากการสังเกตและติดตามการเจริญเติบโตของหอยที่เพาะเลี้ยงพบว่าต้องใช้เวลาในการเลี้ยงนานกว่าจะได้ผลผลิตที่สามารถจำหน่ายได้ทำให้ต้นทุนทางเวลาและความเสี่ยงสูงมากเมื่อเทียบกับการเพาะเลี้ยงสิ่งที่มีชีวิตอื่น ๆ นอกจากนี้ความแปรปรวนของขนาดหอยที่ผลิตได้ในรุ่นที่มีอายุเท่ากันมีมากจึงได้มีการคิดกันว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาวิจัยเรื่องพันธุ์และการพัฒนาพันธุ์หอยเป๋าฮื้อเพื่อให้หอยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์และติดตามประวัติการเติบโตของหอยเป๋าฮื้อแต่ละรุ่นในระบบการเลี้ยงด้วยการติดเครื่องหมายรายตัวประกอบกับการบันทึกข้อมูลและการนำเอาหลักการทางพันธุศาสตร์มาใช้ที่เรียกว่า การคัดและปรับปรุงพันธุ์ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถลดระยะเวลาในการผลิตหอยเป๋าฮื้อขนาดตลาดลงจากเดิม

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องการเก็บหอยเป๋าฮื้อจากธรรมชาติเพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์หรือเพื่อจำหน่าย การเก็บหอยต้องมีการพลิกแผ่นปะการังขึ้นมาซึ่งถือเป็นการทำลายแนวปะการังธรรมชาติและสภาพแวดล้อมธรรมชาติโดยทางอ้อมรวมทั้งทำลายที่อยู่อาศัยและที่หลบภัยของหอยเป๋าฮื้อด้วยจึงได้มีการคิดหาวิธีป้องกันการทำลายปะการังตามธรรมชาติและหาวิธีการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อตามธรรมชาติโดยการสร้างปะการังเทียมขึ้นแทนแนวปะการังธรรมชาติเพื่อใช้ในการเพาะสาหร่ายที่เป็นอาหารของหอยเป๋าฮื้อและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ รวมทั้งทำให้สามารถศึกษาสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่เข้ามาอาศัยบนปะการังเทียมได้ด้วย

หอยเป๋าฮื้อเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญมากเป็นที่นิยมบริโภคกันในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน และอีกหลายประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา ในประเทศไทยก็มีคนนิยมบริโภคหอยเป๋าฮื้อเช่นกัน จากการสำรวจพบว่าหอยเป๋าฮื้อที่นำมาเป็นอาหารในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศในลักษณะหอยสดแช่แข็ง หอยรมควัน และหอยบรรจุกระป๋อง มีบางส่วนเท่านั้นที่เป็นหอยสดในประเทศไทยเองแต่ก็ยังมีปริมาณที่ไม่แน่นอนและคุณภาพไม่ดีนักเนื่องจากมีบาดแผลที่เกิดจากการจับตามธรรมชาติซึ่งทำให้ไม่สามารถเก็บหอยเป๋าฮื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ไว้ได้นาน

ถึงกระนั้นก็ยังเป็นที่น่าพอใจว่าหอยเป๋าฮื้อทั้งที่จับได้จากธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของพ่อครัวและลูกค้าร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการวิจัยและพัฒนาโดยใช้เทคนิควิธีด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของหอยเป๋าฮื้อในประเทศไทยทั้งจากธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงรวมทั้งลดต้นทุนและความเสี่ยงในการเพาะเลี้ยงซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออกหอยเป๋าฮื้อทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้นทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอีกด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
farmerspace.co